fbpx

เว็บมืด คืออะไรกันแน่?

เว็บมืด คืออะไรกันแน่?

เว็บมืด คืออะไรกันแน่?

 

เว็บมืด คืออะไรกันแน่?

 

 

จากข่าวดังที่มีดีเจดังลวงเพจหาบ้านให้น้องหมาและน้องแมวว่าจะรับลูกแมวไปเลี้ยง แต่กลายเป็นทารุณกรรมสัตว์เพื่อเอาไปแลกเหรียญใน Dark Web แทน หลายคนเกิดความสงสัยว่า Dark Web คืออะไร? วันนี้เรามีคำตอบค่ะ

 

เราอาจคุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ตดีใช่มั้ย แม้ว่าเราจะคลุกคลีและใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ทุกวัน แต่คุณรู้หรือไม่ว่าเว็บไซต์ที่เราใช้กันอยู่เป็นเพียงส่วนน้อยของอินเทอร์เน็ตทั้งหมดทั้งมวลที่มีอยู่ในโลก หากเปรียบก็เหมือนกับพื้นผิวมหาสมุทรที่เรามองเห็นเท่านั้นเอง ภายใต้มหาสมุทรที่ลึกลงไปนั้นมีอีกมากมายที่เรามองไม่เห็น ฉะนั้นเช่นเดียวกัน เราสามารถจำแนกอินเทอร์เน็ตได้เป็น  2 ประเภท คือ

 

เว็บมืด คืออะไรกันแน่?

 

  1. Surface Web หรือเว็บพื้นผิวซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ถูกจัดเข้าไปอยู่ในระบบดัชนีของการค้นหา กล่าวคือเว็บไซต์เหล่านี้สามารถถูกค้นหาได้จากเครื่องมือค้นหา (Search Engine) ทั่วไป เช่น Google, Yahoo, Bing เป็นต้น
  2. Deep Web หรือเว็บส่วนลึกซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ไม่สามารถถูกค้นพบได้จาก Search Engine หรือเครื่องมือค้นหามาตรฐานทั่วไป ส่วนมากจะเป็นเว็บไซต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เว็บไซต์ที่เป็นฐานข้อมูลชั้นความลับ เว็บไซต์ส่วนตัว หรือเว็บไซต์ที่เป็นคลังเก็บเอกสารสำคัญของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ของหน่วยราชการ รัฐบาล หรือธุรกิจระดับชาติหรือข้ามชาติ การจะเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านั้นจำเป็นต้องมีที่อยู่ของเว็บไซต์ (URL) ต่างหาก จึงจะเข้าถึงได้

 

นอกจากนั้น ภายใต้มหาสมุทรนี้ก็ยังมีส่วนลึกของก้นบึ้งอีกด้วยที่ไม่เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปและไม่สามารถเข้าถึงได้ เว็บไซต์เหล่านี้ถูกเรียกว่า Dark Web หรือเว็บมืด ซึ่งหมายถึงบรรดาเว็บไซต์ที่ต้องใช้วิธีหรือเครื่องมือพิเศษในการเข้าถึง สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Dark Web ก็คือ  มันไม่ใช่ Deep Web แต่เป็นส่วนหนึ่งของ Deep Web สิ่งที่อยู่ในเว็บมืดนั้นมีความหลากหลายมาก ใช้เป็นพื้นที่ที่เอาไว้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมาย

 

เว็บมืด คืออะไรกันแน่?

 

 

อนึ่ง การทำธุรกรรมที่ผิดกฏหมายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปกปิดตัวตน ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการ โดยปกติหากทำธุรกรรมผิดกฏหมายในเว็บไซต์ทั่วไปนั้นมีความเสี่ยงสูง เพราะว่ามีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ที่สามารถใช้บ่งชี้กลับมาได้ทั้งหมดว่าคนๆ นั้นคือใครและทราบตำแหน่งที่ตั้งได้โดยง่าย แต่ Dark Web ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าลักษณะโครงสร้างของ Dark Web คือการปกปิดตัวตนของผู้ใช้อย่างแน่นหนา ผ่านเครือข่ายพิเศษที่ทำให้ข้อมูลของผู้ใช้งานไม่สามารถถูกสอดส่องได้เลย ตัวตนจริงของพวกเขาจะไม่สามารถถูกรับรู้ได้โดยง่าย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือสภาวะไร้ตัวตนบนอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

การเข้าถึงเว็บมืดนั้นเปรียบเหมือนหาทางเข้าประตูลับ คุณไม่สามารถเข้าไปได้ด้วยการเข้ารหัส www. เหตุเพราะประตูถูกอำพรางไว้ แต่คุณสามารถหาเวทมนต์เปิดทางได้ ด้วยการใช้โปรแกรมท่องอินเทอร์เน็ตที่มีชื่อว่า TOR Browser (เว็บมืดซ่อนตัวอยู่บนเครือข่ายส่วนตัวที่ชื่อ TOR หรือ The Onion Router) ซึ่งลักษณะทั่วไปของเว็บมืดที่อยู่บนเครือข่าย TOR คือจะมีชื่อโดเมนเป็น .onion ตัวอย่างเช่น Dark web เชิงพาณิชย์ที่ได้รับความนิยมอันหนึ่งชื่อว่า Dream Market ถ้าจะเข้าไป ลักษณะที่อยู่จะเป็นแบบนี้ eajwlvm3z2lcca76.onion

หลักการทำงานอย่างง่ายของ TOR คือการสร้างเครือข่ายพิเศษขึ้นมาโดยอาศัยคอมพิวเตอร์ของอาสาสมัครจำนวนมากทั่วโลก ส่งต่อข้อมูลไปมาหลายครั้ง ทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เราเชื่อมต่ออยู่ไม่สามารถรู้ได้ว่าเรากำลังเข้าชมอะไร และตัวเว็บไซต์ที่เรากำลังเข้าชมก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเรากำลังเข้าชมจากที่ไหน ทำให้ทางหน่วยงานต่าง ๆ ไม่สามารถติดตามได้ว่าเราทำอะไรบ้างในเว็บมืดเหล่านี้

 

ใน Dark Web มีอะไรบ้าง

 

เว็บมืด คืออะไรกันแน่?

 

บริการซื้อขายบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต บัตรเงินสด และขโมยล็อกอิน Account ต่างๆบนออนไลน์

จุดเริ่มต้นของเหล่าอาชญากรไซเบอร์ส่วนใหญ่เกิดจากการบริการซื้อขายข้อมูลบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต บัตรเงินสดและล็อกอินที่ขโมยมาได้ จริงๆบนเว็บปกติก็มีแต่แตกต่างกันตรงที่เว็บมืดจะมีความเป็นมืออาชีพสูงกว่า ราคาที่ขายกันมีคร่าวๆประมาณนี้ เช่น ถ้าอยากเข้าถึงเงินในบัญชีของคนที่มียอดเงิน $50,000 ใน Bank of America จ่ายเพียง $500 หรือคุณจ่ายเงินเพียง $600 เพื่อได้ยอด $3,000 มาในรูปแบบตั๋วปลอมราคา $20 จำนวน 150 ใบ หรือสามารถซื้อบัตร Pre-paid 7 ใบโดยที่แต่ละใบมีเงินมูลค่า $2,500 แต่คุณจ่ายได้ในราคาเพียง $500 และคอหนังอาจจะร้องอื้อหืมม… นั่นคือคุณสามารถซื้อ Premium Account ตลอดชีพเพื่อดู Netflix ในราคาเพียง $6 ไม่พอนะในเว็บมืดคุณจ้างแฮ็กเกอร์ให้จู่โจมคอมพิวเตอร์คนอื่นได้ และหาซื้อ username และ password ของคนอื่นได้อีกด้วย

 

บริการซื้อขายหนังสือเดินทาง วีซ่าและปลอมแปลงอัตลักษณ์

ที่นี่ของเหล่านี้หาได้ไม่ยากทั้งหนังสือเดินทางและวีซ่าของทุกประเทศที่คุณจะนึกออก ไปจนถึงบริการขโมยสิทธิพลเมืองส่วนใหญ่เป็นสัญชาติอเมริกัน ซึ่งมีการโฆษณากันไว้ว่าใช้ได้จริงด้วยนะ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่มีความน่าเชื่อถือเลยและมีความเสี่ยงสูง เพราะตรวจสอบไม่ได้ เป็นไปได้ว่าอาจเสียเงินแต่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย

 

ตลาดยาเสพติด และสารเคมีผิดกฎหมาย

จากการสำรวจรวบรวมของเว็บไซต์ Dark Web News พบว่ามีตลาดยาเสพติดบนเว็บมืดอย่างน้อย 43 เว็บ (บางส่วนปิดตัวไปแล้ว) เปิดการขายบน e-commerce เหมือนอีเบย์หรืออเมซอน แต่สินค้าขายยาเสพติดและสารเคมีผิดกฏหมายทุกชนิดเท่านั้นเอง แถมมีบริการจัดส่งทั่วโลกด้วย

 

บริการฟอกเงินและบิตคอยน์

เงินผิดกฏหมายทำให้ถูกกฏหมายได้ด้วยการฟอกเงิน และที่นี่ยังเป็นที่แลกเปลี่ยนสกุลเงินบิตคอยน์อีกด้วย โดยใช้วิธีการแลกเปลี่ยนตัวเงินกันทำให้การสืบย้อนไปยังบัญชีของเงินเหล่านี้ทำได้ยากมากจากที่ยากอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

 

ตลาดอาวุธ

ในโลกของความเป็นจริงนั้นการครอบครองอาวุธนั้นมีความยุ่งยากทางกฎหมายหลายขั้นตอน ไม่รวมเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ผู้ครอบครองต้องมี การซื้ออาวุธเถื่อนในเว็บมืดจึงเป็นอีกทางเลือกที่คนมักจะใช้เมื่อต้องการได้อาวุธมาไว้ในครอบครอง

 

Phishing e-Mail หรืออีเมล์ลวง

การหลอกลวงประเภทหนึ่ง โดยแฮ็กเกอร์จะส่งอีเมล์ที่ปลอมเป็นหน่วยงานต่าง ๆ (ส่วนมากคือธนาคาร)ล่อให้ผู้รับเมล์คลิกเข้าหน้าเว็บที่มีการปลอมแปลงขึ้นมาแล้วหลอกให้กรอกข้อมูลลงไป ค่นี้ข้อมูลของพวกเขาก็จะถูกขโมยไปได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าฟิชชิ่งเกิดขึ้นเป็นปกติบนเว็บไซต์ทั่วไปด้วยเหมือนกัน แต่ในเว็บมืดทำให้การหลอกลวงนั้นเป็นไปได้ง่ายกว่า จึงเป็นภัยที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง

 

บริการลอบสังหาร ฆาตกรรมและทำร้ายร่างกาย

ใช่ที่คุณอ่านมาสามารถสั่งการจากที่นี่ได้หมดไม่ว่าการลอบสังหาร หรือทำร้ายร่างกาย โดยผู้ใช้บริการเป็นผู้กำหนดอาจแตกต่างกันไปตามแต่วิธีการ ว่ากันว่าเชื่อถือไม่ได้ เพราะจ่ายเงินไปแต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

การค้ามนุษย์

พบว่ามีเว็บไซต์ที่ชื่อว่า “Black Death” เสนอขายสินค้าที่เป็นมนุษย์จริง ๆ มีการให้ข้อมูลและรูปถ่ายของสินค้า แต่รูปภาพดังกล่าวเอามาจากสื่อลามกอีกทีก็พอจะคาดเดาได้ว่าเป็นเพียงแค่การหลอกลวงเท่านั้น ตอนนี้เว็บ Black Death งดบริการอย่างไม่มีกำหนด  และยังไม่พบเว็บไซต์อื่นที่มีความคล้ายคลึงกัน

ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่ารายการบางอย่างเช่น การค้ามนุษย์ การทารุณกรรม เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องหลอกลวง เราจะไม่มีทางรู้เลยว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือไม่ถ้าไม่ลองใช้บริการเสียก่อน จากความพยายามสำรวจของผู้ใช้เว็บมืดนั้น ปัจจุบันยังไม่มีกรณีที่ชัดเจนเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ในไทยที่เกี่ยวข้องกับเว็บมืดโดยตรง เนื่องจากสาเหตุหลักคือเหตุการณ์ต่างๆในเว็บมืด มักจะไม่ถูกเปิดเผยผ่านสาธารณะเลย และแต่ละเว็บมักมีลักษณะปิดๆเปิดๆ ย้ายชื่อไปมาเหมือนวิญญาณเพื่อหลีกหนีการติดตาม

 

นิยามพื้นที่ของเว็บมืด

 

พื้นที่เผยแพร่สิ่งต้องห้าม

แม้ว่าเว็บมืดถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่กฎหมายไม่สามารถเข้าถึงได้ในทางกลับกันก็ถูกใช้เป็นพื้นที่ที่ใช้แสดงออกเป็นไปได้อย่างเสรี จึงมีการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนในเรื่องที่ไม่สามารถทำในที่สาธารณะได้ แต่ก็แฝงไว้ด้วยอันตรายอีกหลายรูปแบบเช่น ไวรัสหรือมัลแวร์ที่อาจติดกลับมา, หนังสือที่สอนเกี่ยวกับการใช้อาวุธ, ข้อมูลลับของรัฐบาลหรือเหล่าคนดัง, สื่อลามกเด็ก และอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่สามารถเผยแพร่ในเว็บไซต์ทั่วไป

 

พื้นที่เสรีที่ยากแก่การเข้าถึง

ตัวอย่างสำคัญของการใช้พื้นที่เว็บมืดนอกเหนอจากเรื่องผิดกฏหมายก็คือ การแสดงออกด้านอุดมการณ์ทางการเมือง เช่น “กระดานสนทนา” ที่เอาไว้แลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างสมาชิกในกรณีของเว็บไซต์ Silk Road แฝงเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ก่อตั้งเอาไว้ นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่นิยมของกลุ่มแนวคิดอิสระนิยม (Libertarian) และกลุ่มอนาธิปไตย (Anarchism) อีกด้วย

 

พื้นที่สำหรับความรู้และบริการที่ต้องการความปลอดภัยขั้นสูง

อย่างไรก็ดีในเว็บมืดก็ยังเต็มไปด้วยข้อมูลและเอกสารที่มอบความรู้และมีประโยชน์ เช่น เป็นห้องสมุดออนไลน์ที่รวบรวมหนังสือหายาก คู่มือต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ สถานีวิทยุที่เน้นเปิดเพลงแปลก ๆ หายากที่ไม่สามารถหาฟังได้ตามช่องทางปกติทั่วไป แหล่งข้อมูลความรู้เฉพาะทาง เอกสารหายาก หรือเก่าแก่ ชุมชนแลกเปลี่ยนแสดงความเห็นแบบเฉพาะทาง บริการอีเมล์ที่เน้นเรื่องความปลอดภัยขั้นสูง สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในเว็บมืดปะปนไปกับบริการผิดกฎหมายที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

 

สรุปแล้วเว็บมืดก็เป็นอีกพื้นที่แห่งความหลากหลาย คือมีทั้งประโยชน์และโทษ ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการอะไรจากมันและจะหลบเลี่ยงอันตรายที่เราอาจกลายเป็นเหยื่อที่ไม่รู้ตัวหรือไม่ ที่สำคัญเลยก็คือ เข้าไปแล้วมีโอกาสติดมัลแวร์หรือไวรัสกลับมาก่อความวุ่นวายให้อีกต่างหาก เสี่ยงอย่างนี้ผู้เขียนเองอาจยังไม่พร้อมที่จะลองเข้าไปท่องเที่ยวดู แล้วคุณล่ะคะ คิดว่าอย่างไรบ้าง?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.techworld.com

https://www.tcijthai.com

เว็บมืด คืออะไรกันแน่?

About Matana Wiboonyasake

Digital Marketing Executive | Aware Group ตั้งใจที่จะส่งมอบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ เขียนให้อ่านง่ายและเข้าใจง่าย แม้ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมาก่อนก็สามารถศึกษาร่วมกันได้ ยินดีที่จะนำเสนอเรื่องราวน่าสนใจด้านเทคโนโลยี มาร่วมเรียนรู้ด้วยกันนะคะ