มิถุนายน 2, 2023

LGBTQIA+ กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

by Tanutcha Muangmoh tanutcha.m@aware.co.th

LGBTQIA+ กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

 

ปัญหาความหลากหลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในสังคม ทั้งสาขาอาชีพ เชื้อชาติ อายุ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เช่นเดียวกับความหลากหลายทางเพศ ที่เรียกว่า LGBTQIA+ ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แม้ว่ามิติของความหลากหลายนั้นหลายคนอาจยังไม่เข้าใจ แต่โดยภาพรวม กลุ่มนี้เป็นเหมือนเราทุกคนที่ควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียม และได้รับสิทธิเฉกเช่นประชาชนของประเทศ ในช่วงหลังหลายคนอาจจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า LGBTQIA+ ได้รับการยอมรับมากขึ้น ทั้งในด้านความสามารถ ทักษะ บทบาทในสังคม และการแสดงออกถึงสิทธิและความเท่าเทียมมากขึ้น เนื่องในโอกาส Pride Month 2023 เราจึงอยากนำเสนอความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านของ LGBTQIA+ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ด้านสิทธิของ LGBTQIA+ 

ในแต่ละประเทศย่อมมีสิทธิที่แตกต่างกัน ดังนั้นการยอมรับ LGBTQIA+ ในแต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกันด้วย จากผลสำรวจของ ILGA World หรือ สมาคม Lesbian, Gay, Bisexual, Trans และ Intersex นานาชาติ แสดงให้เห็นว่า แม้หลายประเทศในแถบตะวันออกกลางยังคงมีบทลงโทษที่รุนแรงกับคนที่รักเพศเดียวกัน  

 

LGBTQIA+ กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

ที่มา: https://database.ilga.org/criminalisation-consensual-same-sex-sexual-acts

 

แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่น่าสนใจคือ ตัวเลขของคดีอาญาที่เกี่ยวกับการรักร่วมเพศในกลุ่มของประเทศสมาชิก UN กว่า 49 ประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการถูกคุกคามด้วยตัวบทกฏหมายน้อยลง ผู้คนใบแถบนั้นเกิดการตระหนักในความเป็นบุคคลที่หลากหลายมากขึ้น และไม่ถือเรื่องของความหลากหลายทางเพศว่าเป็นปัญหา 

 

ด้านสิทธิการสมรส 

การสมรสของ LGBTQIA+ ที่ได้สิทธิของคู่สมรสอย่างเท่าเทียมเหมือนกับคู่สมรสชาย-หญิงทั่วไป ตอนนี้มีเพียง 34 ประเทศเท่านั้นที่ทำได้อย่างถูกกฎหมาย นอกจากนั้น หนึ่งในประเทศที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่ม LGBTQIA+ ก็คือประเทศเกาหลีใต้ แม้จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังไม่มีการรับรองการสมรสถูกกฎหมายในเพศเดียวกัน แต่ภายหลังจากเหตุการณ์การเพิกถอนสิทธิประโยชน์ของคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนโดยสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2021 ของนายซอซองอุกและนายคิมยองมิน ที่เคยเข้าพิธีแต่งงานกันและไม่ได้รับการรับรองอย่างถูกกฎหมายในปี 2019 ตอนนั้นทั้งคู่ได้รับสิทธิประโยชน์ในฐานะคู่สมรสเฉกเช่นเดียวกับคู่รักชายหญิงทั่วไป  

แต่ต่อมาในปี 2021 สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติได้ตรวจพบว่า ทั้งคู่เป็นเพศเดียวกันจากสื่อท้องถิ่นที่ลงข่าวของพวกเขา จึงเพิกถอนสิทธิประโยชน์ไป โดยศาลชั้นต้นตัดสินว่า สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติไม่มีความผิดใด นั่นทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจฟ้องกลับ เป็นเวลากว่าสองปี จนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2023 ในที่สุดศาลสูงของเกาหลีใต้ก็ได้รับรองสิทธิในประกันสุขภาพของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่า การถอดถอนสิทธิ คือ การเลือกปฏิบัติกับสิทธิที่ประชาชนควรได้รับ เหตุการณ์นี้นับเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของกลุ่ม LGBTQIA+ ในประเทศเกาหลีใต้ที่ยังมีการไม่ยอมรับ LGBTQIA+ อย่างเข้มข้น 

สำหรับในประเทศไทยแม้จะมีพ.ร.บ.คู่ชีวิตแล้วก็ตาม แต่นั่นก็ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาอีกหลายข้อ เนื่องจากสิทธิและหน้าที่ที่ได้รับจากพ.ร.บ.นี้ยังคงให้ได้ไม่เท่ากับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และยังคงอยู่ในช่วงผลักดันเพื่อนำขึ้นมาพิจารณาในวาระที่สองและสามในการประชุมสภาครั้งต่อไป  

 

LGBTQIA+ กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  

ด้านการยอมรับ LGBTQIA+ ในสังคม 

หลายประเทศให้การยอมรับในตัวตนของ LGBTQIA+ มากขึ้นจากการออกมา Come Out และให้การสนับสนุน LGBTQIA+ ของบุคคลมีชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้น จากผลสำรวจของ ILGA World พบว่า มี 24 ประเทศ ที่รับรองให้กำหนดเพศสภาพตามกฎหมายโดยพิจารณาจากการตัดสินใจด้วยตนเองโดยไม่มีเงื่อนไขทางการแพทย์ ซึ่งมี 2 ประเทศที่เพิ่มขึ้นจากในปีที่แล้วได้แก่ สเปน และฟินแลนด์  

และการสำรวจของชาวอเมริกันในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2012-2022 ของ Gallup หรือบริษัทให้คำปรึกษาสัญชาติอเมริกันและมีชื่อเสียงโดดเด่นในด้านการทำโพลสำรวจ พบว่า การออกมาระบุเพศสภาพของตนเองว่า เป็นหนึ่งใน LGBTQIA+ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากเดิม และมีการเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2021 คิดเป็น 7.1% เพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 1.5% 

 

้านสังคมการทำงานของ LGBTQIA+ 

ถึงแม้ในสังคมจะมีการยอมรับ LGBTQIA+ มากขึ้น และสามารถทำงานร่วมกันในสังคมได้ แต่ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังคงมีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นอยู่ในสังคมการทำงาน จากการสำรวจผลการวิจัยเบื้องต้นของ Marc Folch ในปี 2022 พบว่า นักศึกษาจบใหม่ในสหรัฐอเมริกาที่เป็น LGBTQ+ มีช่วงเงินเดือนที่ต่างกับเพศชายหรือหญิงอยู่กว่า 12% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 22% ในสิบปี ส่งผลให้กว่า 46% ของชาวอเมริกันเลือกที่จะปิดบังเพศสภาพของตนเองในที่ทำงาน ในขณะที่ออสเตรเลีย ที่กว่า 43.86% ของ LGBTQIA+ แสดงออกถึงเพศสภาพของตนในที่ทำงาน ในขณะที่ 12.47% เลือกที่จะไม่แสดงออก  

ในเรื่องของความหลากหลายและนโยบายในบริษัทต่อกลุ่ม LGBTQIA+ 35.4% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไต้หวันรายงานว่า บริษัทของพวกเขามีความคิดเห็นที่เป็นมิตรต่อ LGBTQIA+ และกว่า 53% LGBTQIA+ รายงานว่าสถานที่ทำงานของพวกเขาไม่มีความหลากหลายทางเพศหรือนโยบายสนับสนุน LQBTQ+  และกว่า 73% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวญี่ปุ่นรู้สึกว่า บริษัทของตนควรพยายามสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นมิตรต่อ LGBTQIA+  

 

ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

หลายแห่งในโลกแสดงให้เห็นว่า ภายหลังการโอบรับมิติที่หลากหลายทางเพศและการมอบสิทธิเท่าเทียมที่พึงมีแก่ LGBTQIA+ สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจในสังคมได้อย่างที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง เช่น 

UNDP โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และ USAID หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ มีความเห็นตรงกันว่า ก่อนหน้าที่ความเปลี่ยนแปลงจะมาถึงอย่างในวันนี้การกีดกันในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการเลือกปฏิบัติ การลดโอกาสเติบโต การเพิกเฉย ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นได้เลย แต่เพราะบทบาทพิเศษของกลุ่มคน LGBTQIA+ ที่มีความสร้างสรรค์เป็นอย่างดีมาโดยตลอด การผนึกบุคคลเหล่านี้เข้ามาอย่างสมบูรณ์ในสังคมจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นอย่างดี ดูได้จากกรณีของรัฐ Florida 

William’s Institute สถาบันวิจัยของสหรัฐอเมริกาพบว่า ในรัฐ Florida มีจำนวนประชากรที่เป็น LGBTQIA+ สูงถึง 540,000 คน และเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้สมรสเท่าเทียมกันได้ ใน 3 ปีแรกทำให้พวกเขามีการแต่งงานมากถึง 48,000 คู่ เกิดครอบครัวใหม่ เกิดการขับเคลื่อนใหม่ทางเศรฐกิจ รัฐเก็บภาษีจากรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินหมุนเวียนจากการจัดงานแต่งงานสูงถึง 6,559 ล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในรัฐนี้ถึง 2,626 ตำแหน่ง  

ไต้หวันเองก็เช่นกัน เมื่อก่อนสังคมกีดกัน จำกัดโอกาสการทำงาน ไม่อนุญาตให้เปิดเผยเพศสภาพทั้ง ๆ พวกเขาที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและทราบอยู่แล้วว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีความสามารถและสร้างสรรค์ ภายหลังการรองรับสถานภาพการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันพบว่า ธุรกิจเทคยักษ์ใหญ่ในไต้หวัน 20 บริษัทออกแถลงการณ์ร่วมกันแสดงความยินดีต่อการสมรสเท่าเทียมทุกด้านของกลุ่ม LGBTQIA+ สิ่งนี้ทำให้นักลงทุน รวมถึงผู้ที่มีความสามารถเชี่ยวชาญพิเศษด้านเทคโนโลยี และเป็น LGBTQIA+ ต่างเดินทางเข้ามาลงทุนและทำงานมากขึ้น จนเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ของไต้หวัน นอกจากนั้นยังช่วยให้มูลค่าทางเศรฐกิจจากผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และลดความเครียดในที่ทำงานลงไปได้อีกด้วย 

 

เมื่อเรื่องราวของ LGBTQIA+ เดินทางมาจนถึงในปี 2023

ตอนนี้เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงต่อ LGBTQIA+ ในทางบวกมากขึ้น ทั้งในด้านกฎหมาย ด้านการยอมรับในตัวตนต่อเพศสภาพ และในด้านเศรษฐกิจ เราแทบจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การยอมรับผู้ที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องที่ต้องผนึกรวมทุกคนให้เข้ามาอยู่ในสังคมได้อย่างกลมกลืน ยิ่งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพิ่มพื้นที่ของบทบาท และร่วมสนับสนุนสิทธิของทุกคนให้เท่าเทียมกันมากเท่าไหร่ ย่อมส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันในเชิงบวก ไปจนถึงการส่งเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจของสังคมนั้นไปโดยปริยาย

ในส่วนขององค์กร Aware Group มีโอกาสได้ร่วมงานกับเพื่อน ๆ LGBTQIA+ หลายท่านและพบว่า ทุกท่านมีทักษะและความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย และสามารถจุดประกายองค์กรให้คิดสิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา เราจึงมีความภูมิใจที่ได้ร่วมงานและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พวกเขาเลือกทำงานกับเรา 

ในโอกาสเฉลิมฉลอง Pride Month นี้ Aware Group ขอร่วมเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้สังคมโอบรับมิติแห่งความหลากหลาย ปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานอย่างเท่าเทียม และสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม ลดการเลือกปฏิบัติ มอบสิทธิที่เท่าเทียมให้กับเพื่อนพนักงานทุกคน เพราะคุณค่าและศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคลไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศสภาพของพวกเขาแต่อย่างใดเลย 

 

อ้างอิง: 

www.blog.gitnux.com 

www.bbc.com 

www.papers.ssrn.com 

www.forbes.com 

www.database.ilga.org 

www.pptvhd36.com 

www.hrw.org 

Youtube: LGBTQ กับมิติทางสังคม | เศรษฐกิจติดบ้าน 

  

 

 

 

 

LGBTQIA+ กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

About Tanutcha Muangmoh

Content Writer Intern- นักศึกษาฝึกงานจากเอกอังกฤษ มศว ที่ชื่นชอบในการเขียนและพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มาเรียนรู้เนื้อหาด้านเทคโนโลยีผ่านเรื่องราวที่น่าสนใจไปด้วยกันนะคะ

Uncategorized @th