พฤษภาคม 12, 2023

Business Analyst ทำอะไร? สำคัญอย่างไรในอาชีพสายไอที?

by Matana Wiboonyasake matana.w@aware.co.th

Business Analyst ทำอะไร? สำคัญอย่างไรในอาชีพสายไอที?

 

หลายคนอาจจะเคยได้ยินตำแหน่ง Business Analyst หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า BA แต่ไม่รู้แน่ชัดว่าตำแหน่งนี้ทำอะไร และมีความสำคัญอย่างไรกับอาชีพในสายไอที  
Business Analyst หรือนักวิเคราะห์ธุรกิจ  คือนักวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า/ ผู้ใช้งานระบบ ซึ่งต้องมีความละเอียดและแม่นยำ มีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลด้าน Business และ Technical เพื่อนำไปใช้พัฒนาประสิทธิภาพงานได้อย่างถูกต้อง BA จะต้องพูดคุยเพื่อสอบถามลูกค้า สัมภาษณ์ผู้ใช้งานระบบ หรือทดลองใช้งานจริงด้วยตัวเองเพื่อดูว่า ส่วนไหนต้องปรับปรุง ส่วนไหนพัฒนาต่อได้ และนำความต้องการทาง Business ของผู้ใช้งานมาสื่อสารกับ System Analyst เพื่อนำมาปรับปรุงหรือแก้ไขเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้ 
จะเห็นได้ว่างานของ Business Analyst พูดให้เข้าใจง่ายคือ ตำแหน่งคนกลางระหว่างลูกค้ากับ ทีมพัฒนา คือ ต้องมีทั้งความเข้าใจผลิตภัณฑ์ มีทักษะการสื่อสารที่ดี เพื่อรวบรวมเอารายละเอียด  ข้อบกพร่อง ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ส่งต่อไปยังทีมพัฒนาได้ถูกต้อง  

 

Business Analyst ทำหน้าที่อะไรบ้าง? 

Business Analyst ถือเป็นหนึ่งตำแหน่งที่สำคัญในทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นผู้วิเคราะห์ขอบเขตของธุรกิจ บันทึกกระบวนการ และระบบการทำงาน สรุปข้อกำหนดทางธุรกิจ จับคู่ business model กับซอฟต์แวร์ที่กำลังจะสร้างขึ้น รวมถึงเป็นตัวกลางเชื่อมต่อการสื่อสารความต้องการของผู้ใช้งานทุกส่วนกับทีม Developer โดยตีความข้อกำหนดทางธุรกิจของลูกค้าให้เป็นงาน Development ที่ทีมพัฒนาเข้าใจได้ง่าย รวมถึงส่งต่อภาพรวมของการทำงานให้กระจ่างทุกขั้นตอน และทำให้ทีมเข้าใจว่า รูปแบบ software ที่เหมาะสมควรเริ่มต้นและมีระบบเป็นอย่างไร เพื่อสร้างผลลัพธ์ตามที่ลูกค้าคาดหวัง 

หน้าที่หลัก ๆ ของ Business Analyst มีดังต่อไปนี้ 
  • ชี้แจงแนวคิดทางธุรกิจให้กับทีม 

เพื่อให้ทีมมีความเข้าใจตรงกันว่า ธุรกิจมีทิศทางอย่างไร Business Analyst ควรชี้แจงวัตถุประสงค์หลักของผลิตภัณฑ์ รวมถึงกำหนด benchmarks หลักของผลิตภัณฑ์ เพื่อประเมินวิธีการดำเนินงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ให้สะดวกใช้งานที่สุดสำหรับ stakeholder และสะดวกพัฒนางานที่สุดสำหรับทีม Developer 

  • วางแผนการพัฒนา 

เมื่อได้ข้อกำหนดทางธุรกิจเรียบร้อยแล้ว จำเป็นต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาและแบ่งขอบเขตความรับผิดชอบ 

  • การตรวจสอบข้อกำหนด 

Business Analyst จะต้องควบคุมงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางธุรกิจของลูกค้า 

  • สร้างมาตรฐานในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ 

การทำให้ผู้ใช้งานทุกส่วนใช้ Workflow เดียวกับข้อกำหนดที่สัญญาไว้ รวมถึงการรับคำติชมจากผู้ใช้งาน เพื่อนำมาปรับปรุงจนสามารถรับรองการแก้ไขตามข้อมูลที่ได้รับอย่างถูกต้อง   

ทักษะที่ควรมีสำหรับการเป็น Business Analyst 

Business Analyst ถือเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างลูกค้ากับทีมพัฒนา ดังนั้นจึงควรมีทักษะเด่น ๆ ดังต่อไปนี้  

  • ทักษะการสื่อสาร 

เพราะต้องสื่อสารกับทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ System Analyst จนไปถึงลูกค้า เพราะฉะนั้นการสื่อสารของ Business Analyst จึงจะต้องมีความเข้าใจทั้งในด้าน business และ technical term โดยมีเป้าหมาย คือ เข้าใจและประสานงานเพื่อส่งมอบ software ได้ตรงกับความต้องการแท้จริงของ stakeholder 

  • ความเข้าใจพื้นฐานของการพัฒนาซอฟต์แวร์ 

การเข้าใจพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ใช้จะทำให้ Business Analyst สามารถนำมาวิเคราะห์วิธีการแก้ปัญหา หรือข้อจำกัดต่าง ๆ ร่วมกับทีมเพื่อนำไปสื่อสารต่อกับทุกฝ่ายให้เข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น 

  • การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จาก stakeholder 

ในการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อแก้ปัญหาและส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน จำเป็นต้องได้รับข้อมูลจากหลากหลายทาง อาทิตัวผู้ใช้งานเอง Stakeholder ทีมพัฒนา หรือการนำข้อมูลเชิงสถิติต่าง ๆ มาช่วยวิเคราะห์และออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อให้เราสามารถสร้างซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพนั่นเอง 

  • การจัดการลำดับความสำคัญ 

การรู้ว่าอะไรสำคัญและเร่งด่วน อะไรมีประโยชน์ต่อองค์กรหรือลูกค้า จะทำให้ทีมสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจร่วมกันได้ว่าจะเลือกที่จะทำะไรก่อนหรือหลังเพื่อให้สองความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

  • การใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ 

เนื่องจากต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้นทักษะการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับความต้องการหรือการแก้ปัญหานั้นจะทำให้ทุ่นแรงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

  • ทักษะการทำงานเป็นทีม 

ความสามารถในการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานและ stakeholder เพื่อทำความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับข้อกำหนดทางธุรกิจที่สำคัญ   

จะก้าวมาเป็น Business Analyst ได้อย่างไร? 

เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ต้องมีความรู้หลากหลายด้าน สาขาการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริหารธุรกิจ การเงิน การตลาด เศรษฐศาสตร์ และสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้าน IT หรือมีประสบการณ์ด้านการวิเคราะห์ การจัดการโครงการด้าน IT เป็นต้น โดยอาจจะเรียนภาษาคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มพูนทักษะในสายงานนี้ หรือลงเรียนใน course เกี่ยวกับ Business Analyst โดยตรงที่ได้รับการรับรอง เพื่อเพิ่มทักษะและโอกาสในการก้าวเข้ามาทำงานในอาชีพนี้   

Business Analyst มีความสำคัญอย่างไรกับสายไอที? 

Business Analyst คือตำแหน่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างลูกค้า กับ ทีมพัฒนา จึงอยู่ในแทบทุกขั้นตอนของการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล, หาข้อมูล, การกำหนดเงื่อนไขความต้องการ, Go Live, รับ Feedback เป็นต้น ดังนั้น Business Analyst จึงเป็นอาชีพที่สำคัญและน่าสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน อีกทั้งยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดการทำงานอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง   

 

อ้างอิง:

thinknet, simplilearn, cio.com, altexsoft    

Business Analyst ทำอะไร? สำคัญอย่างไรในอาชีพสายไอที?

About Matana Wiboonyasake

Digital Marketing Executive | Aware Group

Uncategorized @th