March 9, 2022

Digital Footprint ร่องรอยบนดิจิทัลที่เราทิ้งไว้สำคัญแค่ไหน

by Matana Wiboonyasake matana.w@aware.co.th

Digital Footprint ร่องรอยบนดิจิทัลที่เราทิ้งไว้สำคัญแค่ไหน

 

 

ปัจจุบันพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือแอปพลิเคชันของผู้ใช้ถูกเก็บบันทึกไว้หมด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใดๆที่เกิดขึ้นบนออนไลน์ เช่น แทรคบันทึกการออกกำลังกาย ความถี่ในการใช้แอปพลิเคชัน ช่วงเวลาล่าสุดที่ใช้ การโพสต์โซเชียลมีเดียเพื่อแสดงความคิดเห็น การถ่ายรูปอัปโหลดลงมีเดียแพลตฟอร์ม การกดไลก์ กดแชร์โพสต์ต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นเสมือนการทิ้งร่องรอยบนดิจิทัล หรือ Digital footprint เอาไว้

 

Digital Footprint สำคัญแค่ไหน?

 

สำหรับผู้ใช้และผูู้บริโภคอย่างเราๆ digital footprint ที่เราฝากไว้บนอินเทอร์เน็ตช่วยให้เราใช้งานบนออนไลน์ได้ง่ายมากขึ้น เริ่มต้นจากการการลงทะเบียนเพื่อใช้งานที่ถูกทำบันทึกไว้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ทำแค่ครั้งก็สามารถใช้เป็นบัตรผ่านประตูได้แทบจะทุกเว็บไซต์ เก็บประว้ติเราไว้ทั้งหมดว่า เราไปที่ไหน ทำอะไร เวลากี่โมง ซึ่งข้อมูลที่เราให้ไปมีทั้งแบบที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ถูกเปิดเผยและไม่ถูกเปิดเผย ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกเก็บบันทึกโดยเจ้าของธุรกิจ แอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้เข้าไปใช้อีกทีหนึ่ง

 

ลักษณะของ Digital Footprint

Passive Digital Footprint – แบบที่ผู้ใช้งานไม่ได้ตั้งใจทิ้งไว้ เช่น ข้อมูล IP Address, ประวัติการท่องเว็บไซต์, ประวัติการเดินทางบน GPS เป็นต้น
Active Digital Footprint – แบบที่ผู้ใช้งานตั้งใจเปิดเผย เช่น ข้อมูลเช็คอิน, การโพสต์สเตตัส รูปภาพ บนโซเชียลมีเดีย อีเมล การเขียนบล็อก หรือข้อมูลอื่นใดก็ตามที่ผู้ใช้งานตั้งใจแสดงเป็นสาธารณะบนโลกออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้

ยิ่งเรามี Active Digital Footprint มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงความเป็นตัวตนของผู้ใช้งานมากขึ้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าในวันหนึ่งข้อมูลที่เคยโพสต์อาจถูกลบไป แต่ก็อาจจะถูกคนอื่น ๆ บันทึกหรือคัดลอกข้อมูลเอาไว้ หรืออาจถูกจัดเก็บเข้าไปใน Big Data ของผู้ให้บริการต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในภายหลังได้อีกด้วย ผู้ใช้จึงควรพิจารณาให้ดีว่าสิ่งใดบ้างที่ควรถูกเปิดเผย

 

Digital footprint กับโลกของการทำงาน

 

ไม่น่าเชื่อว่า Digital footprint มีบทบาทสำคัญอย่างมาก เดี๋ยวนี้หากเราอยากรู้จักใคร เพียงแค่เสิร์ชหาชื่อ-นามสุกล อีเมล เราก็พอจะได้ข้อมูลบางอย่างบนออนไลน์มาแล้ว ตรงนี้เองที่เราอยากจะให้ทุกคนได้พิจารณาการใช้งานและการทิ้ง digital footprint ด้วย ทำไมล่ะ? ฉันไม่ใช่ดาราไม่น่าจะต้องกังวลไม่ใช่หรือ?

การทิ้งร่องรอยบนดิจิทัลเอาไว้ย่อมส่งผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่งกับเราแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการสมัครงาน เพราะอะไร? เพราะเราแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยิ่งเราเปิดเผยตัวตนมากเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านั้นยิ่งทำให้คนอื่นรู้ได้ว่า เจ้าของข้อมูลให้ความสำคัญกับเรื่องไหนบ้างในชีวิต มีทัศนคติและวิธีคิดต่อเรื่องราวต่าง ๆ อย่างไร ที่สำคัญ คนอื่นจะเห็นว่าเราบ่นออกมาอย่างไรอีกด้วย

 

องค์กรให้ความสนใจกับ digital footprint ของผู้สมัครงานมากขึ้น

 

ข้อมูลจากสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันองค์กรธุรกิจจำนวนมากใช้ข้อมูลจากโซเชียลประกอบการพิจารณารับบุคคลเข้าทำงานด้วยนะ นอกเหนือจากการสัมภาษณ์และการทดสอบความสามารถ โดยตรวจสอบจาก Facebook, Instagram, หรือ Twitter ของผู้สมัคร ที่น่าสนใจคือ มีการสำรวจเรื่องกระบวนการรับสมัครงานของบริษัทเอกชน 350 แห่ง ของสมาคมการจัดหางานบุุคคลเรื่องกระบวนการรับสมัครงานพบว่า 41.9% ขององค์กรที่สำรวจ พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครประกอบกับข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย

แม้แต่ต่างประเทศเองก็มีมีสถิติจาก CareerBuilder พบว่า Digital Footprint คือ หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้องค์กรตัดสินใจไม่รับสมัครพนักงานใหม่ โดยมองหาเหตุผลที่จะไม่รับสมัครงานถึง 22% สาเหตุหลักที่ไม่รับเข้าทำงาน คือ การโพสต์ภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลยั่วยุ/ ไม่เหมาะสม, โพสต์ภาพการดื่มสุราหรือของมึนเมา, และโพสต์ข้อความเหยียดเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อส่วนบุคคลของผู้อื่น เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการพิจารณาเพื่อตัดความเป็นไปได้ในการร่วมงาน

 

HR ดูข้อมูลของผู้สมัครเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่?

 

ข้อมูลจากสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ระบุว่า เมื่อพิจารณาถึงการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว หากข้อมูลนั้นถูกตั้งค่าเป็นสาธารณะก็ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิแต่อย่างใด ตรงนี้ยิ่งตอกย้ำว่าเราควรระมัดระวังการเปิดเผยตัวตนและร่องรอยบนดิจิทัลของเราด้วยในฐานะผู้สมัครงาน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะโพสต์ แสดงความคิดเห็น หรือบ่งบอกความเป็นตัวตนได้ แต่ความน่าเชื่อถือของตัวบุคคลก็เป็นสิ่งสำคัญ การพิจารณาข้อมูลจากโซเชียลที่เป็นสาธารณะถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการรับสมัครงาน น่าคิดว่า การกดโพสต์แค่ครั้งเดียวร่องรอยนี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน จึงควรมองถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

 

สุดท้ายแล้วการใช้สื่อออนไลน์ จึงเปรียบเสมือนประตูสู่ปลายที่เราต้องการ แต่ระหว่างทางที่เราได้ทิ้งร่องรอยเอาไว้เป็นเหมือนดาบสองคมที่ต้องระมัดระวัง ขณะเดียวกันร่องรอยบนดิจิทัลที่แสดงข้อมูลผู้ใช้งานเองเป็นเหมือนรอยเท้าอมตะในพื้นที่ของโลกออนไลน์ ไม่สามารถลบเลือนไปได้ด้วยกาลเวลา ดังนั้นเราควรบริหารจัดการสิ่งที่เราอยากพูด คิด บ่น รวมถึงเนื้อหาอื่นๆที่เราต้องการเผยแพร่ และดูแลการตั้งค่าการเผยแพร่ให้เหมาะสม ส่วนไหนเป็นสาธารณะได้ ส่วนไหนไม่ควรตั้งค่าเป็นสาธารณะ เพราะต่อให้ผู้ใช้หรือเจ้าของบัญชีไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้ว ทำอย่างไรจึงจะทิ้ง digital footprint ที่มีคุณค่าไว้ในชีวิตอมตะออนไลน์ของเรา? นี่เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ต้องหาคำตอบ แต่ที่แน่ๆ ในบทความหน้า เรามีวิธีแนะนำการจัดการร่องรอยบนดิจิทัลให้เป็นมิตรกับการสมัครงานมาฝากคุณด้วย คลิกอ่านต่อได้ที่นี่

 

อ้างอิงจาก

www.bbc.com 

www.careerbuilder.com

www.thematter.co  

Uncategorized