July 5, 2019

สองหัวรึจะสู้สามหัว ลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยในที่ทำงานได้อย่างไร เรามีคำตอบ

by Matana Wiboonyasake matana.w@aware.co.th

สองหัวรึจะสู้สามหัว ลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยในที่ทำงานได้อย่างไร เรามีคำตอบ

 

        เพราะการทำสิ่งใดคนเดียวย่อมไม่ดีเท่ากับมีสองหัวช่วยกันคิดช่วยกันทำ แล้วถ้าเราไม่ได้มีแค่สองหัวล่ะ? มันจะยิ่งดีมากแค่ไหน ในบทความนี้เราอยากจะพูดถึงการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มคน 3 Gen ต่อไปนี้คือ Gen B หรือ Baby BoomerGen X) และ Gen Y นั่นเอง

        ปัจจุบันเราต่างรู้กันดีว่าเทคโนโลยีด้านสุขภาพนั้นเจริญรุดหน้าไปมากแค่ไหนซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ Gen B หรือ Baby Boomer (ผู้ที่เกิดในปี ค.ศ.1954-1964) มีสุขภาพที่แข็งแรงและมีแนวโน้มที่จะเกษียณอายุช้าลง พร้อมกันนั้นกลุ่มวัยทำงานเต็มตัวอย่าง Gen X (ผู้ที่เกิดในปี ค.ศ.1965-1980) ซึ่งมองว่าความมั่นคงด้านการเงินเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นจึงยังคงให้ความสำคัญต่อการทำงานไปในระยะยาว ส่วนน้องคนเล็กสุดของเรา นั่นก็คือ เด็กรุ่นใหม่อย่าง Gen Y หรือบางคนอาจจะเรียกกันว่า Millennials (ผู้ที่เกิดในปี ค.ศ.1981 -1996) ส่วนใหญ่ Gen นี้เมื่อจบการศึกษาปุ๊ป! ก็อยากใช้ความรู้ที่เรียนมาลงสนามจริง ทำให้เราเห็นหลายๆบริษัทมีเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น

        ถ้าต่างคนต่างทำงานกับคนใน Gen ของตัวเองก็เหมือนได้ทำงานกับเพื่อนสนิท แต่ถ้าแต่ละ Gen ต้องมาทำงานร่วมกันล่ะ? จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นไหม และถ้ามี เราจะมีวิธีป้องกันปัญหาอย่างไร

 

อย่างแรกเราลองมาดูกันก่อนว่าแต่ละ Gen มองกันและกันอย่างไร

        แน่นอนว่าต่างคน ต่างวัย ต่างมุม อาจนำมาซึ่งความไม่เข้าอกเข้าใจกันได้ เพราะคนเรามักอ้างอิงหลายๆอย่างตามประสบการณ์และความบ่อยที่เคยเจอ เคยมีผลสำรวจของ The Great Generational Divide จากตัวอย่าง 1,350 คน ในปี 2014 ชี้ว่า ช่องว่างระหว่างวัย คือสาเหตุสำคัญของความตึงเครียดที่แพร่อยู่ในองค์กร ซึ่งมีคนทำงานกว่า 1 ใน 3 คน เสียเวลากับความขัดแย้งเรื้อรังกับเพื่อนร่วมงานต่างวัยกว่า 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (คิดเป็น 12% ของเวลาทำงานในหนึ่งสัปดาห์) ทีนี้ปัญหาอยู่ที่ไหน? แต่ละ Gen มองกันและกันอย่างไร?

 

  • Gen B คิดว่าคน Gen X และ Gen Y ไร้ระเบียบวินัย ไม่มีความมุ่งมั่น ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน โดยเฉพาะคน Gen Y ที่มักไม่รับผิดชอบคำพูดของตนเอง

 

  • Gen X คิดว่า Gen B เป็นพวกหัวดื้อ เอาแต่แก้ตัว เหยียดเพศ ไม่มีความสามารถ ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่มองคน Gen Y ว่าชอบอวดเก่งและมั่นใจเกินไป

 

  • Gen Y มอง Gen B ไม่ต่างจากคน Gen X คือ เป็นพวกไม่ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง หัวดื้อ ไร้ศักยภาพ ไม่ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น และติดอยู่กับกรอบเดิมๆ ที่สำคัญคือล้าหลัง ในขณะที่ก็มองคน Gen X ว่าแก้ปัญหาไม่เก่งและทำอะไรเชื่องช้าไม่ทันโลก

 

ข้อมูลจาก Pacrimgroup

 

เมื่อเรารู้แล้วว่าแต่ละ Gen มีทัศนคติในการมอง Gen อื่นๆอย่างไร (โดยที่ยังไม่ได้รู้จักกัน) ฉะนั้นเราจะมีวิธีแก้ไขปัญหานี้อย่างไร? โดยที่เราจะแบ่งการทำงานร่วมกันออกเป็น 3 ช่วง

1.) ช่วงก่อนเริ่มงาน

ก่อนการเริ่มงานนั้นสิ่งที่ควรทำก็คือ การพูดคุยทำความรู้จักกันเพื่อละลายพฤติกรรม รวมถึงการวางแผนในการทำงานร่วมกันด้วย แต่ในช่วงเวลาที่ร่วมกันการวางแผนนั้น เราเชื่อว่าหลายๆ Gen อาจจะยังมีอคติต่อ Gen อื่นๆในใจอยู่บ้าง แล้วถ้าอย่างนั้นแต่ละ Gen จะลบคำครหาได้อย่างไร เราแนะนำอย่างนี้ครับ

 

  • เมื่อคน Gen B รู้ว่า Gen X และ Y มองตัวเองว่าเป็นคนหัวดื้อ ไม่ปรับตัวในการเปลี่ยนแปลง ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงไม่ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น สิ่งที่ Gen B ทำได้คือพิสูจน์เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองไม่ได้เป็นอย่างนั้นได้โดยการนำเสนอความคิดนอกรอบบ้าง พร้อมกับลองพูดคุยกับ Gen X และ Y ในเรื่องใหม่ๆที่เกิดขึ้นในสังคม และลองศึกษาเรื่องการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มเติม รวมไปถึงการถามความคิดเห็นจากเหล่า Gen X และ Y เพื่อที่ให้พวกเขารู้สึกว่าเหล่า Gen B นั้นใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น

 

  • ต่อมาคือกลุ่ม Gen X เมื่อพวกเขารู้ว่า Gen B คิดว่าเขาเป็นคนที่ ไร้ระเบียบวินัย ไม่มีความมุ่งมั่น และ Gen Y คิดว่าพวกเขาทำอะไรเชื่องช้าไม่ทันโลก สิ่งที่ Gen X ทำนั้นก็คือเมื่อเราเสนอแผนแนวทางอะไรสักอย่าง เราควรแสดงถึงเจตนารมณ์ความมุ่งมันอย่างจริงใจตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการทำงานที่มีระเบียบมีวินัย เช่น การมาตรงต่อเวลา ทำงานด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และเมื่ออยู่ในเวลางานก็ควรทำงานอย่างสุดความสามารถ รวมถึง Gen X ต้องคอยอัพเดทเรื่องราวข่าวสารใหม่ๆพร้อมพูดคุยกับ Gen B และ Gen Y เพื่อที่ว่านอกจากจะลบอคติต่อกันและกันแล้ว ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันด้วย

 

  • น้องคนสุดท้องของเราอย่าง Gen Y ซึ่งโดนรุ่นพี่อย่าง Gen B มองว่า มักไม่รับผิดชอบคำพูดของตนเอง และ Gen X ที่มองว่า ชอบอวดเก่งและมั่นใจเกินไป พอ Gen Y รู้อย่างนี้แล้ว สิ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ก็คือ เมื่อพูดอะไรหรือวางแผนอะไรไปแล้วก็ควรทำได้อย่างที่พูดหรือตามที่ได้วางแผนไป และเมื่อพูดคุยกับใครก็แล้วแต่อาจจะเพิ่มความนอบน้อมอ่อนโยนมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ทุกๆฝ่ายรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับเรา

 

2.) ช่วงระหว่างการทำงาน

เมื่อแต่ละ Gen ปรับตัวตามข้อที่ 1 ได้แล้ว เรามาดูกันต่อว่าพอทำงานร่วมกันนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นมีอะไรได้บ้าง

ในการทำงานร่วมกันนั้นย่อมมีสิทธิที่จะเกิดปัญหาได้ นั่นหมายถึงช่วงระหว่างการทำงานนั้น อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง หรือเกิดปัญหาความผิดพลาดในการทำงาน แล้วถามว่าถ้าเกิดงานมันดันมีปัญหาขึ้นมาสิ่งที่ควรทำมากที่สุดคืออะไร คำตอบก็คือการให้กำลังใจ และช่วยกันแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด ซึ่งมันจะดีกว่าการที่เราพยายามชี้ตัวคนผิดพร้อมใช้ถ้อยคำรุนแรงในการติเตียน เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ที่ทำผิดพลาดรู้สึกกลัวในการสอบถามเรื่องอื่นๆแล้ว สิ่งนี้ยังเป็นเหมือนบ่อนทำลายความเป็นทีมและผู้ร่วมงานคนอื่นๆด้วย

แต่หากว่ามีสมาชิกในองค์กรท่านใดเกิดทำงานผิดพลาดบ่อยครั้งหรือทำผิดพลาดในเรื่องใหญ่ สิ่งที่เราควรทำคือไปพูดคุยแบบส่วนตัวกับเขา อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นและวิธีที่เขาสามารถนำไปปรับใช้เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดได้ พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่ควรทำผิดพลาดในเรื่องนั้นๆ เพราะเราเชื่อว่าไม่มีใครอยากที่จะทำงานผิดพลาดหรอกครับ และผู้ที่ทำงานผิดพลาดก็ควรยอมรับในความเป็นจริง และควรเปิดใจรับฟังคำวิจารณ์ต่างๆเพื่อนำไปพัฒนาตนเองและทีม 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าหากมีใครสักคนทำงานได้ดีเราก็ควรที่จะชมด้วย เพื่อเป็นกำลังใจให้กับบุคคลนั้นๆหรือทีมนั้นๆ และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกันด้วย

 

3.) ช่วงหลังการทำงาน

สิ่งที่ควรทำหลังจากที่งานจบแล้วนั้น แต่ละคนควรเอาสิ่งที่ผิดพลาดในการทำงานของตัวเองมาแก้ไข ฝึกฝน พัฒนา เพื่อที่จะให้งานหน้าๆของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และไม่ควรนำคำติเพื่อก่อของผู้อื่นมาบั่นทอนจิตใจ หรือมาทำให้เราโกรธแค้นผู้นั้น เพราะเราเชื่อว่าเวลางานก็คือเวลางาน เมื่อเราลงไปในสนามจริงแล้วเมื่อมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเราก็ควรร่วมช่วยกันแก้ไข ซึ่งอาจจะรวมถึงการการยอมรับในคำติเพื่อก่อด้วย และหลังจากที่เราออกมานอกสนามแล้ว สิ่งที่เราควรทำก็คือ enjoy การทำงานกับเพื่อนร่วมงาน สนุกสนาน ใช้เวลาร่วมกันอย่างคุ้มค่า และมีความสุขในการทำงานในทุกๆวัน ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเราเอง

 

พออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้างครับกับวิธีที่เราแนะนำ เราหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะครับ และผู้อ่านท่านใดที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ เราขอเป็นกำลังใจให้สู้ต่อไปเพราะเราเชื่อว่าถ้าผู้อ่านมีความคิดที่ดีแล้ว สุดท้ายทุกคนก็จะเห็นจากการกระทำของตัวผู้อ่านเอง แล้วถ้าผู้อ่านมีวิธีในการทำงานร่วมกับคนแต่ละ Gen ที่เจ๋งๆล่ะก็ สามารถแชร์มาหาเราได้เลยที่ Facebook Inbox ทางเพจ Aware Careers << คลิก

สุดท้ายนี้ผู้เขียนก็อยากกระซิบบอกว่า หากผู้อ่านท่านใดสนใจงานด้านไอทีพร้อมทั้งอยากร่วมงานกับองค์กรที่มีบรรยากาศเสมือนครอบครัวและเปิดกว้างในทุกความคิดเห็นไม่ว่าผู้อ่านจะอยู่ใน Gen ไหนก็ตามโดยที่ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะพบเจอกับอคติของคนแต่ละ Gen ผู้เขียนก็อยากจะเชิญชวนให้ผู้อ่านมาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว Aware เช่นเดียวกับผู้เขียนนะครับ โดยผู้อ่านสามารถค้นหาตำแหน่งที่เปิดรับได้จาก 

1.) Aware IT jobs << คลิก

2.) Aware Careers Facebook << คลิก

และหากผู้อ่านท่านใดได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว Aware แล้ว สามารถเดินมาพูดคุยทักทายกับผู้เขียนได้ตลอดเลยนะครับเพราะผู้เขียนมีอีกหลากหลายเรื่องราวดีๆที่อยากจะแบ่งปันให้ฟังครับ 

 

Video Credit: Aware Corporation Ltd

Uncategorized