March 3, 2020

เริงร่าในทวิตภพกับ Twitter แสนสนุก – คนทำงานอย่างเราได้อะไรจาก Twitter

by Matana Wiboonyasake matana.w@aware.co.th

เริงร่าในทวิตภพกับ Twitter แสนสนุก – คนทำงานอย่างเราได้อะไรจาก Twitter

 

ปัจจุบันจากสถิติประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุด 20 อันดับแรก ประเทศไทยมี Active user 5.7 ล้านคน อยู่อันดับที่ 15 ของโลก (ข้อมูลอ้างอิงจาก Statista) Twitter ในประเทศไทยถือได้ว่าเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ย 35% เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมานี้ แม้ว่าจำนวนการใช้งานยังเป็นรองให้กับ Indonesia และ Philippines ก็ตาม นอกจากเรื่องสนุกที่เรียกเสียงฮาจนท้องขดท้องแข็ง ดราม่าดาราและการมือง หรือแม้แต่สถานการณ์เลวร้ายที่สุดไม่ว่าจะเรื่องกราดยิง หรือไวรัส Covid 19 หรือรายงานผู้ติดเชื้อ ทำให้เราทราบได้ทั่วถึงกันก็จาก Twitter นี่แหละ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

Twitter ในประเทศไทยกลายเป็นแพลตฟอร์มที่โดดเด่นในเรื่องของการสนทนาของคนรุ่นใหม่ ขึ้นชื่อว่าเป็นโซเชียลมีเดียที่ ‘เด็กๆหนีผู้ปกครอง’ จาก Facebook ไปสิงอยู่ใน Twitter ก็ว่าได้ กระทั่งนักวิชาการถึงกับออกปากเปรียบเปรยว่า ‘Twitter คือ ผนังห้องน้ำในศตวรรษที่ 21 แต่ฝาผนังนี้เข้าถึงคนได้ล้าน ๆ คน’ อนึ่ง ใครใคร่เขียนเขียน ใครใคร่แสดงความคิดเห็นก็แสดงออกมา  เบื้องหลังการเติบโตที่รวดเร็วของ Twitter ผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับกระแสความคิดใหม่ ๆ ไม่ได้โตมากับธรรมเนียมวัฒนธรรมแบบเดิม เพราะฉะนั้นถ้าเห็นเรื่องที่แปลกหูแปลกตา สะสมความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้วตั้งคำถามนี้บน Twitter กลายเป็นการพูดคุยที่สามารถแสดงออกทางสาธารณะได้ผ่าน Twitter  แถมยังเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอันดับต้นๆที่ผู้คนมีแอปนี้บนมือถืออีกต่างหาก ล่าสุดก็เพิ่มฟีเจอร์ Emoji ที่ให้เราเล่นได้อีก แค่เลือกว่าจะแสดงความรู้สึกแบบไหนบนข้อความนั้นๆ  เช่น หัวเราะ ว้าว เศร้า หัวใจ ถูกใจ และไม่ถูกใจ ยิ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ใช้มากขึ้นไปอีก

Twitter มีลักษณะอย่างไรและให้อะไรกับคนทำงาน

คาแรคเตอร์ของบทสนทนาบน Twitter จะพูดคุยกันแบบตรงไปตรงมา มีกลุ่มสำหรับผู้ที่มีความสนใจแบบเดียวกัน ได้แสดงความคิดเห็นที่ตรงกัน ไม่ต้องเปิดเผยหน้าตา ไม่ต้องรู้จักกันแต่ก็พูดคุยกันได้ ผ่านการใช้แฮชแท็กหรือเครื่องหมาย # ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 12 ปีที่แล้วเพื่อใช้ใน Twitter โดยเฉพาะ สัญลักษณ์นี้ใช้ในบทสนทนาหัวข้อเฉพาะ และใช้เพื่อค้นหาเนื้อหาของหัวข้อที่สนใจได้เช่นกัน ที่สำคัญชาวไทยใช้แฮชแท็กจำนวนมากทั้งสองภาษาคือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทำให้ข้อความมากมายที่เกิดขึ้นจากผู้ใช้งานไทยและอีกกว่าร้อยล้านคนทั่วโลกสามารถแลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องตลกส่วนตัวไปจนถึงสถานการณ์ตึงเครียดระดับโลก เคล็ดลับที่ชาญฉลาดไปจนถึงรีแอคชั่นชวนสติแตก วัฒนธรรมป็อบไปจนถึงการประท้วง และเรื่องที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความแตกต่างสุดขั้ว ทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้มีแต่เรื่องดราม่าหรือข่าวน่าตกใจ หรือกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่น่าเบื่อหน่าย สิ่งที่เราอยากให้คุณได้สัมผัสบทสนทนาแห่งทวิตชนในทวิตภพอย่างเพลิดเพลินคือ การท่องไปในข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของคนทำงานทั่วไปอย่างเราๆ

คนวัยทำงานใช้ Twitter มากที่สุด

หากอ้างอิงตามกลุ่มอายุ เราจะเห็นความน่าสนใจของการใช้ Twitter ในประเทศไทยดังต่อไปนี้ .

  • ในปีที่ผ่านมา สัดส่วนผู้ใช้ Twitter ของไทยแบ่งเป็นเพศหญิง 51% เพศชาย 49% แต่ในปี 2020 สัดส่วนของผู้หญิงที่ใช้ Twitter มีมากขึ้นถึง 78% และผู้ชายลดลงเหลือ 21.9% (ข้อมูลอ้างอิงจาก https://adaddictth.com/2020/02/19/digital-thailand-2020/)
  • ช่วงวัยที่ใช้งานมากที่สุด ได้แก่ อายุ 16-24 ปี (40%), อายุ 25-34 ปี (26%), อายุ 35-44 ปี (19%), อายุ 45-54 ปี (11%) และอายุ 55-64 ปี (4%) น่าสนใจตรงที่ตัวเลขของคนวัยทำงานที่มีอายุ 25-44 ปี มีสัดส่วนรวมกันมากถึง 45% ถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มผู้ใช้งาน
  • คนไทยพูดถึงอะไรบน Twitter อย่างแรกเลยคือ เพลง (77%) นอกจากนั้นก็เป็นภาพยนตร์ (68%), อาหาร (68%), การเดินทาง (60%), เกม (57%), การเงิน (57%), แฟชั่น (52%) และรถยนต์ (51%)

สาระและเรื่องราวที่น่าสนใจของ Twitter สำหรับคนทำงานอย่างเรา ๆ อยู่ตรงไหน

  1. เพื่อติดตามข่าวสารและเป็นแหล่งข่าวสาร

ช่องทางที่ใช้ติดตามข่าวสารของคนไทยส่วนใหญ่อันดับแรก คือ โทรทัศน์ 78.82% รองลงมาคือ Social Media (จาก Facebook และ Twitter)  68.27% เดี๋ยวนี้อะไรก็ตามที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นบน Twitter จนตอนนี้ Twitter ก้าวขึ้นมาเป็น ‘สำนักข่าว’ ของโลกใบนี้แล้ว กล่าวคือ Twitter เป็นที่ที่แรกที่ข่าวเกิดขึ้นเสมอ แม้แต่สำนักข่าวจริงๆ อย่างเช่น CNN BBC ช่อง3 ช่อง7 ช่อง9 ยังต้องใช้ Twitter เป็นแหล่งข่าวด้วยซ้ำ รูปแบบของสื่อสารมวลชนได้เปลี่ยนไปแล้ว วิธีที่ผู้คนบริโภคข่าวสารบ้านเมืองในปัจจุบันถูกปฏิวัติโดยโซเชียลมีเดีย Twitter คือแพลตฟอร์มที่ผู้คนในประเทศไทยใช้ในการติดตามข่าวด่วนที่เสพได้รวดเร็วยิ่งกว่า Facebook หรือการติดตามข่าวจากทีวีเสียอีก นอกจากจะติดตามแล้วคุณเองก็ยังสามารถรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเตือนคนในพื้นที่เสี่ยงและเพื่อที่ข้อความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่พบเห็นหรืออยู่ใกล้กับสถานที่นั้นต่อไป เพราะผู้ใช้ Twitter ก็คือบรรณาธิการหรือผู้ที่สร้างหัวข้อข่าวต่างๆ ด้วยการติดแฮชแท็ก แล้วแชร์ข้อมูลและความคิดเห็นกันต่อไปเรื่อย ๆ แสดงให้ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ บนแฟลตฟอร์มเห็นว่าหัวข้อนั้น ๆ กำลังได้รับความนิยม สามารถกดไลก์ รีทวีต และติดตามเรื่อง ความคิดเห็นและข่าวสารเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย

  1. เพื่อสร้างชุมชนที่มีความสนใจเดียวกันและกระจายข่าว

Twitter เป็นแพลตฟอร์มที่อิงตามความสนใจของผู้ใช้ แตกต่างจากการที่เราเห็นฟีดและเนื้อหาที่แนะนำขึ้นมาโดย Facebook อย่างสิ้นเชิง เพราะตรงนั้นอัลกอริธึมทำงานแบบเพื่อนน้องพี่ของเราสนใจอะไร มันก็จะเหวี่ยงเรื่องนั้นมาในฟีดเรารัว ๆ ด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่จะเป็นความคิดเห็น ความชอบ หรือความเชื่อที่เรามีด้วยกันเป็นพื้นฐาน หากสังเกตุให้ดี  Facebook จะถามเราทุกวันว่า ‘What’s on your mind’ จึงเป็นแหล่งคอนเทนต์ประเภท Look at me แต่ในทางกลับกันบน Twitter จะถามคุณว่า ‘What’s happenning’ เกิดอะไรขึ้นรอบๆ ตัวคุณ  เพราะฉะนั้นคนก็จะมาแชร์เรื่องราวรอบๆ ตัวที่เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่ใช้ Twitter สามารถมีส่วนร่วมในบทสนทนาในหัวข้อต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์และสื่อสารกับผู้คนที่มีความสนใจเรื่องเดียวโดยไม่จำเป็นต้องติดตามแอคเคาท์ของกันและกัน ผ่านการใช้แฮชแท็กซึ่งจะพาคุณไปสู่บทสนทนากับคนอื่นๆ ได้ ทำให้ Twitter แตกต่างจากเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ และกลายเป็นเรื่องปกติที่จะสามารถติดตามพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักบน Twitter ขอเพียงมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่าชุมชน หรือ community นั่นเอง

     3. อัปเดตเทรนด์ล่าสุด

เพราะ “อะไรก็ตามที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นบน Twitter ” ลองเข้าไปดูที่ Trend for You คุณจะเห็น # ที่ขึ้นอันดับ 1 ของแต่ละวัน ผู้คนพูดถึงอะไรกันจากตรงนี้คุณจะไม่มีวันตกเทรนด์ การติดตามแฮชแท็กยอดนิยมที่ติดเทรนด์ เป็นหนึ่งในหลาย ๆ วิธีที่คนไทยนิยมใช้ในการติดตามเรื่องราวข่าวสารและบทสนทนาสาธารณะ Twitter คือแพลตฟอร์มที่เป็นจุดเริ่มต้นบทสนทนาและกระแสสังคมบนสื่อออนไลน์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับละคร วงการบันเทิง ดารา การเมือง ความเคลือบแคลงสงสัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม หรือเหตุการณ์ต่างๆ

  1. เพื่อแลกเปลี่ยนบทสนทนา เสพความสนุก และความฮาที่จะทำให้คุณอารมณ์ดี

การใช้ Twitter สนุกตรงไหน? สนุกตรงที่การทวีตแต่ละข้อความจะถูกจำกัดที่ 140 ตัวอักษร และด้วยความที่ต้องสั้นเท่านั้น แต่ละทวีตจะสื่อสารอย่างไรให้รู้เรื่อง และนี่เองคือเสน่ห์ของ Twitter ที่ทำให้ข้อความหรือบทสนทนาที่ถูกทวีตมีความกระชับ สั้น ได้ใจความ และกลายเป็นคำโดน ๆ ที่เกิดขึ้นมาให้เห็นกันบ่อย ๆ และถ้าคุณเป็นคนที่ชอบพิมพ์อะไรสั้น ๆ และอ่านอะไรสั้น ๆ เข้าใจได้ง่ายไม่ต้องเสียเวลามาก Twitter คือคำตอบ คุณจะได้เข้าไปท่องเที่ยวอยู่ในบทสนทนาของคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ทั้งมันส์ ทั้งฮา และได้ความรู้ในคราวเดียว แล้วคุณจะพบว่าทวิตชนหรือชาว Twitter เป็นคนตลกมาก ๆ อ่านแล้วคลายเครียดได้ดีสุด ๆ

  1. เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตจากแฮชแท็กที่น่าสนใจ

เชื่อเถอะว่ารีวิวจากผู้ใช้ตัวจริง และการรายงานข่าวจากสื่อที่ดีเป็นอะไรที่เกิดประโยชน์แน่ ๆ เช่นว่า

  • อัปเดตสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่น่ากังวล กด #covid19 หรือติดตามข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำในเรื่องของไวรัสนี้ในไทยได้จาก กระทรวงสาธารณสุข https://twitter.com/pr_moph และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ https://twitter.com/prDMSc
  • Twitter ยังช่วยให้ผู้ใช้ได้รับรู้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในพื้นที่ต่างๆ อย่างทันท่วงทีด้วย เพียงแค่กด Search Filter เลือกให้แสดงข้อความที่มีตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับคุณ สามารถช่วยให้คุณรู้ทันสถานการณ์ใกล้ตัวที่เกิดขึ้น
  • วันนี้การเดินทางของเช้าวันจันทร์และสถานการณ์โดยรวมของการจราจรราบรื่นดีหรือไม่ กด #JS100 แหล่งข้อมูลที่สำคัญของผู้ใช้รถใช้ถนนเรื่อยมา จนตอนนี้ได้รับการสนับสนุนสถานการณ์ที่ฉับไวจากผู้ติดตามจำนวนมากที่ร่วมรายงานสภาพจราจร
  • เช้านี้รีบมาก มื้อง่ายที่สุดคือซื้อข้าวเช้าในร้านสะดวกซื้อ เช่น ช่วงนี้มีอะไรน่าทานในราคาพิเศษบ้างที่ 7-11 กด #รีวิวเซเว่น หรือติดตามเซียนรายงานเซียน 7-11 จากแอคเคาท์ มนุษย์รีวิวเซเว่น หรือ รีวิวเซเว่น
  • อาหารหรือร้านที่เราสนใจจะอร่อยตามที่เราคิดหรือไม่ กด #อร่อยไปแดก แต่ถ้าร้านที่รีวิวกันว่าอย่าไปเลยขอเตือน กด#ไม่อร่อยอย่าแดก
  • หรือแม้แต่ครีมซองรึข้าวของต่าง ๆ อะไรดีบุ๋มก็ว่าดีอย่างนี้ รีวิวเองไม่มีใครจ้าง กด #ไว้รีวิวห้ามขายของโว้ยย หรือ #ใช้ดีบอกต่อ
  • โปรเด็ดที่ไหน คนทำงานอย่างเราไม่ควรพลาด ตามที่นี่ได้เด็ดเว่อร์ไม่แพ้ใน Facebook เลยจาก #โปรเด็ด #ชี้เป้าโปรแรง
  1. เพื่อให้คุณใช้ทักษะการติดตามในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

มีบทความจากมหาวิทยาลัย Harvard และเว็บไซต์ด้านไอที digitaltrends.com ที่ระบุขั้นตอนในการคัดกรองข่าวจริง-ข่าวลวง เหตุเพราะ Twitter เป็นแพลตฟอร์มที่ข่าวกระจายตัวได้อย่างรวดเร็วและเรียลไทม์ แถมข้อความนั้นยังเป็นสาธารณะอีกด้วย ทันทีที่ข้อความถูกทวีต เนื้อหามากมายจะแพร่กระจายออกไป ข้อมูลจากปี 2018 ใน Twitter มี 150 ล้านข้อความถูกทวีตมากถึง 6,000 ข้อความใน 1 นาที คิดดูสิว่าจะมีข้อความที่ไม่ได้คัดกรองออกมามากขนาดไหน ในเมื่อทุกคนสามารถรายงานข่าวโดยอ้างหรือยืนยันว่าอยู่ในสถานที่เกิดนั้นเหตุนั้นจริง ๆ ทีนี้เองที่คุณจะต้องนำเอาทักษะการคิด วิเคราะห์ แยกแยะเข้ามาใช้ในการคัดกรองข่าวแล้วล่ะ แน่นอนขั้นตอนที่คุณควรทำคือ พาดหัวข่าวพูดถึงอะไรบ้าง แล้วเนื้อหาสอดคล้องกับพาดหัวข่าวหรือไม่ เพื่อไม่เป็นการบิดเบือนเรื่องราวให้เราเกิดความเข้าใจผิด ที่แน่ ๆ เราควรรู้แหล่งที่มาของข่าว เช่น มีสำนักข่าวแหล่งอื่น ๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับข่าวนี้ยืนยันออกมาใกล้เคียงกันหรือไม่ แหล่งข่าวนั้นน่าเชื่อถือแค่ไหน ถ้าคุณหาต้นตอของข่าวหรือบทความต้นฉบับได้ เป็นไปได้ว่าแหล่งข่าวที่แพร่ข่าวออกมาไม่น่าเชื่อถือ ที่สำคัญคือตรวจสอบความเป็นกลางของเนื้อหาที่ไม่โจมตี เอียงไปทางใดทางหนึ่ง หรือเสียดสีมากเกินไป หากข่าวนั้นยังคงติดค้างอยู่ในใจของคุณ ลองสอบถามผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เกี่ยวกับข่าวนั้นก็เป็นวิธีการที่ดีเช่นกัน การรู้เท่าทันด้วยการคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนรีทวีตหรือแชร์ จะเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันทั้งตัวคุณ ผู้แชร์ข่าว ตลอดจนผู้รับรู้ข่าวนั้นจากการแชร์ต่อ ๆ กัน ได้อย่างทรงประสิทธิภาพที่สุด

 

โดยรวมแล้ว ถ้าไม่นับเรื่องดราม่าและข่าวปลอมทั้งหลายที่ใคร ๆ ก็สร้างได้ การเล่นทวิตเตอร์สามารถสร้างความบันเทิงให้กับเราพอสมควร แถมยังมีประโยชน์มากกว่าที่คิดด้วย คุณล่ะคะคิดว่าอย่างไรบ้าง

 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

https://www.statista.com/statistics/242606/number-of-active-twitter-users-in-selected-countries/

https://adaddictth.com/2020/02/19/digital-thailand-2020/

https://www.bbc.com/thai/thailand-49919169

https://www.thumbsup.in.th/goh-chanachai-twitter-thailand

https://www.kafaak.com/2013/05/16/the-ten-things-tweeters-should-know/

 

Uncategorized