มีนาคม 11, 2019

เด็กจบใหม่เขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งาน

by Matana Wiboonyasake matana.w@aware.co.th

เด็กจบใหม่เขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งาน

 

เรซูเม่ที่ดีต้องเป็นอย่างไร? น้องๆเคยค้นหากันมาบ้างแล้วใช่ไหม เช่น ต้องเป็นแบบไหน มีไอเดียลูกเล่นอะไรใหม่ๆในการทำเรซูเม่บ้าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังคงท้าทายน้องๆที่เพิ่งเรียนจบใหม่และกำลังหางานอยู่ นั่นคือการเขียนเรซูเม่อย่างไรให้เข้าตา HR น้องๆอาจเคยหา Format ที่ถูกใจมาลองปรับ คิดว่าถ้าทำแบบนี้แล้วจะดีและน่าจะได้งาน แต่จริงๆแล้วการใช้ Format ของคนอื่นมาเปลี่ยนเนื้อหาให้เป็นของตัวเอง อาจไม่ส่งผลดีต่อการถูกพิจารณาเรียกมาสัมภาษณ์เสมอไป เพราะหลายคนยังขาดความเข้าใจว่าจริงๆแล้วการเขียนเรซูเม่ต้องเริ่มจากตรงไหน? เป้าหมายของการเขียนเรซูเม่คืออะไร?

 

ก่อนอื่น น้องๆทราบหรือไม่ว่า เรซูเม่กว่า 80% ของเด็กจบใหม่ถูกคัดออก?

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเรซูเม่ที่ไม่น่าสนใจและไม่สามารถนำเสนอตัวเองได้ตรงกับความต้องการของบริษัทที่น้องๆสมัคร ฉะนั้นทำอย่างไรให้เรซูเม่ของเรากลายเป็นเรซูเม่เด็กจบใหม่เลอค่าที่ HR กำลังตามหา

 

เรซูเม่ (Resume) คือ ประวัติส่วนตัวโดยย่อที่สรุปเรื่องของคุณสมบัติและความสามารถของเรา เป็นเหมือนใบโฆษณาส่วนตัวว่า ฉันมีดีในเรื่องอะไรบ้าง ฉันมีทักษะในด้านต่างๆ และความพร้อมในการทำงานแบบผู้ใหญ่ ฉะนั้นเรซูเม่จึงถือเป็นปราการด่านแรกที่ต้องทำให้ดีให้ได้ในสายตา HR

 

หลักๆแล้ว HR จะดูอยู่ 3 อย่าง 

 

  • ประสบการณ์ ตำแหน่งที่เราต้องการสมัครงาน เรามีประสบการณ์ไหนบ้างที่จะสามารถยืนยันได้ว่า เราน่าจะทำงานในตำแหน่งนี้ได้
  • ความสำเร็จที่ผ่านมา เราเคยสำเร็จในเรื่องอะไร มันบอกได้ถึงความตั้งใจ ความอดทน การร่วมงานกับผู้อื่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงาน และความเป็นไปได้ที่จะสามารถร่วมงานกับบริษัทที่เราสมัครงานด้วย
  • เรซูเม่ ตรงกับงานที่เขาเปิดรับสมัครหรือไม่

 

 ในเรซูเม่ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง 

 

1. Personal Data

ว่าด้วยเรื่องข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ รูปโปรไฟล์ ชื่อ สกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์ติดต่อ และอีเมล ระวังเรื่องการเขียนเบอร์โทรและอีเมลให้ถูกต้อง หาก HR สนใจแต่ติดต่อกลับไม่ได้เสียดายแย่

 

Do: น้องๆควรมีชื่ออีเมลที่เป็นแบบสุภาพ สร้างจากชื่อและนามสกุลจะดีที่สุด เช่น somchai.kondee@example.com และหลีกเลี่ยงการใช้อีเมลที่ตั้งชื่อจากความชื่นชอบส่วนตัว เช่น ทีมฟุตบอล ดารา การ์ตูน ถ้อยคำไม่เป็นทางการ เช่น Piggydance365daysyeah@example.com

 

Don’t: รูปโปรไฟล์ไม่แนะนำให้ส่งรูปที่เป็นแบบ Selfie หรือมีลักษณะไม่เป็นทางการจนเกินไป ในภาพควรใส่เสื้อผ้าเรียบร้อย ยิ้มแย้ม เห็นหน้าตาชัดเจน และระวังแบคกราวด์ด้านหลังที่ไม่เหมาะสม

 

เด็กจบใหม่เขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งาน เด็กจบใหม่เขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งาน

 

2. Education

ประวัติการศึกษาที่ระบุอย่างละเอียด ได้แก่ ปีที่ศึกษา สถานศึกษา คณะ สาขา เกรดเฉลี่ย เราแนะนำว่าให้เรียงลำดับจากปัจจุบันลงไปหาอดีต

 

Do: ควรนำเสนอให้อ่านง่ายสบายตา

Don’t: ระวังเรื่องตัวเลขและการสะกดชื่อสถาบันให้ถูกต้อง

 

เด็กจบใหม่เขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งาน เด็กจบใหม่เขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งาน

 

3. Experience

ประวัติการทำงาน ควรใส่ชื่อบริษัท ตำแหน่งงานที่เคยทำ ช่วงเวลาที่ทำงาน โดยเรียงลำดับจากปัจจุบันไปหาอดีต ในแต่ละตำแหน่งควรระบุ Key Responsibilities หรือหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก ว่าเราทำหน้าที่อะไรบ้าง เพราะตรงนี้หากใกล้เคียงกับงานที่น้องกำลังจะสมัครนี่จะเป็นส่วนเสริมมากๆ

 

**ส่วนน้องๆคนไหนที่ไม่ได้ฝึกงานสามารถปรับเป็น Additional Activity หรือกิจกรรมที่เคยทำซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในข้อ 5

 

Do: หากมี Key Achievement หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากหน้าที่นั้นๆ ควรใส่ลงไปด้วย เพิ่มความโดดเด่นของเรซูเม่ขึ้นมาทันที

Don’t: ไม่ควรเขียนอะไรที่เกินไปจากความจริงและไม่มีประสบการณ์ตรง

 

เด็กจบใหม่เขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งาน เด็กจบใหม่เขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งาน

 

4. Key Skill

ใส่ทักษะความสามารถหลัก (Key skill) ที่เรามีจริงๆ ทั้งทางด้านภาษา ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ความรู้ในเรื่องต่างๆ พยายามระบุทักษะที่มีผลเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัคร และให้ระบุระดับความสามารถของตัวเองด้วย

 

Do: ควรระบุทักษะออกมาเป็นความสามารถที่อ่านค่าได้ เช่น ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับควรปรับปรุง / พอใช้/ ยอดเยี่ยม และสามารถทำเป็นแบบ Infographic ให้ดูน่าสนใจได้นะ

Don’t: ระวังเรื่องการระบุระดับความสามารถแบบรูปภาพที่ไม่บอกระดับหรือประสิทธิภาพของทักษะนั้น

 

เด็กจบใหม่เขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งาน เด็กจบใหม่เขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งาน

             

5. Additional Activity — กิจกรรมอื่น ๆ

ใส่กิจกรรมที่เคยทำทั้งทางวิชาการ กีฬา ความสนใจส่วนตัว งานมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เคยมีส่วนร่วมทำงาน เคยประกวด และหากได้รับรางวัลจากการทำงานให้ใส่ไปด้วย ถ้าตรงกับสายงานที่กำลังสมัครอยู่ HR จะรู้สึกสนใจเป็นพิเศษเพราะทำให้น้องๆดูมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น

 

6. Reference — บุคคลอ้างอิง

บุคคลอ้างอิง คือ ผู้ที่สามารถรับรองความสามารถที่แท้จริงของเราได้ รู้จักความประพฤติของเรา โดยบุคคลอ้างอิงอาจเป็นอาจารย์หรือเป็นหัวหน้างานที่เคยดูแลเรา ยิ่งตำแหน่งสูงยิ่งดี เพราะเป็นการรับรองจากความสามารถที่แท้จริง

 

Do: น้องๆควรแจ้งต่อบุคคลอ้างอิงนั้นเพื่อขอให้เขาเป็นบุคคลอ้างอิงให้เราก่อนส่งเรซูเม่

Don’t: ไม่ควรใส่ชื่อบุคคลที่คิดว่าไม่สามารถจะระบุข้อดี ลักษณะงาน และความรับผิดชอบของเราได้

 

เด็กจบใหม่เขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งาน เด็กจบใหม่เขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งาน

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นเรซูเม่ที่ดีควรที่จะอ่านง่าย ใช้สีที่สุภาพ ไม่ควรใช้ Font แปลกๆ ที่ต้องอาศัยความพยายามในการอ่าน ควรใช้ Font ที่เหมาะสมและสามารถเปิดอ่านได้เป็นมาตรฐานอย่างเช่น Arial, Georgia หรือ Veranda และควรเซฟเป็น .pdf (ลองนึกดูว่าส่งเอกสารแนบมาแต่ HR เปิดอ่านไม่ได้ หรือไม่เหมือนกับ Format ที่น้องตั้งมา นอกจากจะไม่สวยงาม อ่านยาก แล้วยังอาจทำให้เรซูเม่ขาดความน่าสนใจอีกด้วย)

 

ถ้าเขียนเรซูเม่เป็นภาษาอังกฤษ ไม่ควรใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด และควรตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยก่อนส่งสมัครงานทุกครั้งว่ามีการพิมพ์ผิด/ ตกหล่นหรือไม่

 

แนะนำว่าควรเซฟชื่อไฟล์เรซูเม่ที่จะส่งให้เรียบร้อย เช่น Resume_Somchai_Kondee

 

หากน้องๆทำตามคำแนะนำเหล่านี้ บอกได้เลยว่าโอกาสในการถูกเรียกมาสัมภาษณ์งานมีสูงมาก เผลอๆอาจเรียกได้ว่ามีโอกาสเรียกมาสัมภาษณ์งานจากทุกที่ที่ส่งไป เชื่อว่าจากนี้เราจะได้เห็นเรซูเม่ที่น่าสนใจส่งเข้ามาสมัครงานกับ Aware กันเยอะๆนะคะ ดูงานที่เปิดรับสมัครทั้งหมดกว่า 300 ตำแหน่งของเราได้ที่ www.aware.co.th/it-jobs/ 

 

#ยินดีต้อนรับนักศึกษาจบใหม่เข้าทำงาน

#AwarePeople

เด็กจบใหม่เขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งาน

About Matana Wiboonyasake

Digital Marketing Executive | Aware Group

Uncategorized @th