fbpx

การเดินทางของ Web 3.0 ในปัจจุบันเป็นอย่างไร 

การเดินทางของ Web 3.0 ในปัจจุบันเป็นอย่างไร 

 

 

ทราบหรือไม่ว่ายุค Web 3.0 กำลังเขยิบเข้ามาใกล้เราอีกนิดแล้ว หลายคนอาจจะงงว่า แล้ว 1.0 และ 2.0 คืออะไร เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เรามาถึงตรงนี้ได้อย่างไร ก่อนอื่นเราจะพาย้อนกลับไปว่า วิวัฒนาการในการใช้เว็บไซต์มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง 

 

ช่วงแรก Web 1.0 (ปี 1990 – 2000) 

เว็บไซต์ในยุคเริ่มต้น เกิดขึ้นในราวๆ ปี 1989 โดย ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) วิศวกรด้านคอมพิวเตอร์ของอังกฤษ ผู้คิดค้นวิธีการสื่อสารข้อความหลายมิติ (Hypertext) เพื่อสื่อสารข้อมูลหากันโดยใช้อินเทอร์เน็ต ในชื่อ World Wide Web มีการใช้องค์ประกอบพื้นฐานของเว็บไซต์ อย่าง HTTP, HTML และ URL ในการสร้างเว็บไซต์ ในสมัยนั้น Web 1.0 ยังเป็นแค่การสื่อสารแบบทางเดียว (One Way Communication) เน้นให้ผู้ใช้เข้าไปอ่าน โดยไม่มีการโต้ตอบกลับมาใด ๆ  

 

ช่วงต่อมา Web 2.0 (ปี 2005-2020) 

เว็บไซต์ในยุคนี้สามารถทำได้ทั้งอ่านและเขียน เพื่อโต้ตอบกันได้อย่างอิสระเป็นแบบสื่อสารสองทาง (Two Way Communication) และข้อมูลข่าวสารที่มีการนำเสนอนั้นจะมีการพัฒนาเป็นแบบ Dynamic สามารถอัปเดตข่าวสารได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเป็นได้ทั้งผู้สร้างและผู้บริโภคในการสร้างสรรค์เนื้อหา Content ต่าง ๆ หรือ พูดคุยโต้ตอบระหว่างกันบนเว็บไซต์ได้ ทำให้การปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เกิดเป็นสังคมออนไลน์ Social Network และมีข้อมูลเป็นจำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้ามาสู่อินเทอร์เน็ต เราจึงมีตัวกลางอย่าง Facebook (Meta), Google เข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลางคอยดูแลจัดการข้อมูลทั้งหมด และเชื่อมต่อผู้คนต่าง ๆ เข้ามาใช้งานได้อย่างสะดวก เป็นต้น  

 

จุดเปลี่ยนสำคัญก่อน Web 3.0 จะเดินทางมาถึง 

เมื่อข้อมูลหลั่งไหลมาสู่สาธารณะเป็นจำนวน ผู้คนจึงเริ่มตระหนักได้ว่า การใช้บริการฟรีจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ นั้น มีเบื้องหลังที่ผู้บริโภคเพิ่งจะมาทราบคือ ข้อมูลของผู้ใช้ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม ช่วงเวลาในการใช้งาน การเดินทาง การใช้จ่าย ความชอบ ความสนใจ  มีเพื่อนเป็นใคร เรากำลังมองหาอะไร สิ่งเหล่านี้ถูกขโมยและถูกขายไปให้บริษัทต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเข้าถึง ขายของ และสร้างโฆษณาที่ตรงใจเรามากขึ้นได้ ประเด็นคือ การที่ข้อมูลของเราถูกจำหน่ายไปง่าย ๆ ปราศจากความยินยอมหรือการแจ้งให้ทราบก่อนที่ข้อมูลจะถูกส่งต่อไปยังบุคคลที่ 

มิหนำซ้ำการสูญเสียอำนาจการควบคุมข้อมูลที่ถูกเก็บแยกตามเว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชันต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่เราเป็นเจ้าของข้อมูล แต่เราไม่สามารถนำข้อมูลออกมาใช้ได้ตามความต้องการของเรา ทำให้ต้องแยกไปสมัครใช้บริการใหม่ในแพลตฟอร์มอื่น จึงกลายเป็นจุดกำเนิดใหม่ของ Web 3.0  

 

ตัวกำหนดแนวคิดของ Web 3.0 และสิ่งที่ตามมา 

ดังที่กล่าวมาแล้วในเรื่องของข้อมูลส่วนตัวกลายเป็นประเด็นที่คนทั้งโลกหันมาให้ความสนใจและมีข้อปฏิบัติในการดูแลรักษาข้อมูลเหล่านั้นมากขึ้น จึงเป็นที่มาของแนวคิดของ Web 3.0 และอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้อินเทอร์เน็ตไปโดยสิ้นเชิงดังนี้

 

  1. ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานจะเป็นส่วนตัวอย่างแท้จริง จึงต้องมองหาเทคโนโลยีที่สามารถมาตอบโจทย์ในการใช้งานให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ โดยไม่ต้องมีใครมาควบคุมข้อมูลนั้นยกเว้นเสียแต่เจ้าของข้อมูลเอง เพื่อให้ผู้ใช้งานหรือนิติบุคคลสามารถเป็นเจ้าของตัวตนดิจิทัลและข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยสมบูรณ์
  2. ข้อมูลจะไม่ถูกจัดเก็บและควบคุมโดยตัวกลาง ทุกเว็บไซต์สามารถเชื่อมโยงข้อมูลหากันได้อย่างอิสระ ดังนั้นตัวตนของผู้ใช้งานจึงเป็นตัวตนแบบกระจายศูนย์ (Decentralized identity: DID) ปราศจาก server โดยอาศัยบล็อกเชนเข้ามาใช้ในระบบ เปรียบเสมือนบัญชีบันทึกข้อมูลดิจิทัล โดยในแต่ละบล็อกจะเก็บข้อมูลในเครือข่าย และแชร์ข้อมูลทั้งหมดในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือ Node ทำให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลเดียวกันได้ หรือเป็นยุคที่ผู้ใช้ควบคุมข้อมูลนั่นเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดด้านตัวตนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่อาจได้เห็นในอนาคต 
  3. ผู้ใช้งานหรือเจ้าของข้อมูลส่วนตัวนี้จะสามารถควบคุม รวมถึงสามารถสั่งการผ่านแอปพลิเคชันได้ว่า อยากให้ปกป้องข้อมูลส่วนไหน และทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร ข้อมูลแบบกระจายศูนย์หรือไร้ตัวกลางนี้จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลหากันได้จนถึงขั้นที่ว่า ผู้ใช้งานสามารถล็อกอินทุกเว็บไซต์ได้โดยใช้ไอดีและพาสเวิร์ดเดียวที่มีความปลอดภัยสูง 
  4. เนื้อหาที่มีอยู่บนโลกออนไลน์จะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจากความเห็นพ้องต้องกัน (consesus) ที่สามารถทำได้โดยเจ้าของข้อมูลนั้น ๆ เมื่อต้องการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือสร้างเนื้อหาใดขึ้นมา เจ้าของแพลตฟอร์มจะไม่สามารถแบนเนื้อหาได้ตามอำเภอใจอีกต่อไป 
  5. ประสบการณ์ท่องเว็บไซต์ของแต่ละบุคคลอาจจะแสดงไม่เหมือนกัน เพราะเมื่อ Web 3.0 รวมเข้ากับเทคโนโลยี AI ระบบจะประมวลผลจากการใช้อินเทอร์เน็ตของแต่ละคนในรูปแบบของ Sementic Web ที่ช่วยจัดความสัมพันธ์ของผู้ใช้กับการใช้งานได้ดีขึ้น จนสุดท้ายออกมาเป็นหน้าเว็บไซต์ที่ปรับไปตามประสบการณ์การใช้งานของแต่ละคน เช่น นาย A และ B เข้าเว็บไซต์ Facebook เหมือนกัน แต่หน้าตาเว็บไซต์ (UI) อาจไม่เหมือนกันเลย 

 

ประเด็นที่น่าคิดต่อเกี่ยวกับ Web 3.0  

แม้ว่า Web 3.0 จะช่วยส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้ดียิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม Web 3.0 ยังมีความเสี่ยงใหญ่ ที่ไม่อาจมองข้ามไปได้หลายประการ เช่น

 

  1. เนื่องจาก Web 3.0 ใช้หลักในการกระจายอำนาจในการควบคุม ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งนี้เปรียบเสมือนดาบสองคม ที่ทำให้โลกอินเทอร์เน็ตยากที่จะควบคุมมากขึ้น คุณสมบัติหลักของ Web 3.0 คือ การกระจายอำนาจ ซึ่งหมายความว่าเว็บแอปพลิเคชันถูกจัดเก็บไว้ในบล็อกเชน เจ้าของคือผู้เข้าร่วมบล็อกเชนทั้งหมด และการตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงจะผ่านฉันทามติ (consensus)
  2. ประเด็นต่อมาคือ ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบข้อมูล ไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับกำหนดว่าโปรแกรมหรือเนื้อหาใดที่สามารถเผยแพร่ได้ กฎระเบียบต่างๆ ยังปรับใช้ไม่ทันกับเทคโนโลยีที่ก้าวไปไกล และจะทำให้อาชญากรค้นพบวิธีใหม่ ๆ ในการใช้ระบบในทางที่ผิดมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ การละเมิดทางออนไลน์ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการดูแลเครือข่าย ยิ่งทรัพยากรน้อย ยิ่งทำให้การถูกโจมตีจากการโจรกรรมทางเว็บไซต์ง่ายขึ้น หรือเป็นช่องทางสำหรับการฟอกเงิน
  3.  แม้ว่า Web 3.0 จะมีหลักการที่สำคัญในการกระจายอำนาจการควบคุมข้อมูลต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงหลักการดังกล่าวอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของที่แท้จริง คือเจ้าของทรัพยากร อย่างบริษัทเงินทุนต่างๆ หรือแม้แต่ Big Tech ที่เป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ Web 3.0 นอกจากนี้ การวางแผนที่จะสร้างแอป Web 3.0 ในบล็อกเชนบางตัว แอปอาจล่มได้ทุกเมื่อโดยการควบคุมของกลุ่มคนจำนวนจำกัด
  4.  ความยากในการเริ่มต้นใช้งาน การพัฒนาระบบ การใช้ และการทำให้คนทั่วไปเข้าใจ เป็นเรื่องยากเนื่องจากต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องบล็อกเชน และเทคโนโลยีต่างๆ แม้ว่ายังมีปัญหาอีกมากที่ต้องแก้ไขใน Web 3.3 เพื่อให้เป็นมิตรกับมนุษย์มากขึ้น 
  5.  การเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่ Web 3.0 ต้องใช้โปรเซสเซอร์หรือระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่ดีกว่า โดยที่อุปกรณ์เก่าจะไม่สามารถจัดการกับ Web 3.0 ได้ ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดในการรับมือคือ การเตรียมอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติสูงให้สามารถใช้อินเทอร์เน็ตเวอร์ชันถัดไปได้ ประกอบกับต้องมีการเตรียมเสริมทักษะความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน สำหรับ Web 3.0 แก่ผู้ใช้ และทุกภาคส่วนจะต้องปรับตัวให้พร้อมรับกับการก้าวเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย แต่อย่างไรก็ตาม การรู้เท่าทันเทคโนโลยี ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องเข้าใจและพร้อมรับมือ เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดขึ้น 

 

ตอนนี้เราเข้าสู่ Web 3.0 จริง ๆ แล้วหรือยัง 

ในปัจจุบัน Web 3.0 ยังคงเป็นแนวคิด รูปแบบของเว็บไซต์ที่คาดการณ์ไว้ว่ามันจะเป็นยุคใหม่ของอินเทอร์เน็ตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่จะมีความฉลาดมากขึ้น ตอบสนองผู้ใช้งานได้มากขึ้นผ่านการใช้ Edge Computing เทคโนโลยีที่ประมวลผลโดยใช้ Cloud ที่อยู่ใกล้กับต้นทางเพื่อลดเวลาในการเข้าถึงข้อมูล และ AI เพื่อให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น ฉะนั้น เป็นไปได้มากว่า Web 3.0 สามารถทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่นวิเคราะห์ข้อมูลได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น ทำให้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Machine Learning (ML), Big Data, Artificial Inteligence (AI), Blockchain สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  

ตอนนี้เรายังคงอยู่ในรอยต่อก่อนที่จะเข้าสู่ Web 3.0 เท่านั้น ต้องรอดูกันต่อไปว่าวันที่โลกอินเทอร์เน็ตไร้ตัวกลางอย่างแท้จริงจะมาถึงเมื่อไหร่ เพราะตราบใดที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังคงต้องผ่านผู้ให้บริการกลางคงยังไม่สามารถนับได้ว่าพวกเราเข้าสู่ Web 3.0 อย่างเต็มตัว และคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้เห็นหน้าตา Web 3.0 ที่ชัดเจน ซึ่งก็ยังไม่สามารถตอบได้้ว่า เมื่อไหร่จะมาถึง

 

ที่มา 

www.techsauce.co 

www.beartai.com 

www.moneyandbanking.co.th 

 

 

การเดินทางของ Web 3.0 ในปัจจุบันเป็นอย่างไร 

About Matana Wiboonyasake

Digital Marketing Executive | Aware Group ตั้งใจที่จะส่งมอบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ เขียนให้อ่านง่ายและเข้าใจง่าย แม้ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมาก่อนก็สามารถศึกษาร่วมกันได้ ยินดีที่จะนำเสนอเรื่องราวน่าสนใจด้านเทคโนโลยี มาร่วมเรียนรู้ด้วยกันนะคะ